วิธีสังเกตงูพิษ สายพันธุ์งูพิษ วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด งูเข้าบ้าน ต้องทำอย่างไร แจ้งใครมาจับ
ในวันที่ฝนตกหนัก สวนข้างบ้านเฉอะแฉะ มีน้ำท่วมขัง เราอาจจะได้เจอแขกไม่ได้รับเชิญนั่นก็คือ “งู” เลื้อยหนีน้ำเข้ามาภายในบริเวณบ้าน เมื่อ งูเข้าบ้าน อันดับแรกเลยก็ต้องสังเกตว่าเป็นงูอะไรค่ะ ถ้าเป็น งูไม่มีพิษ ก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าเจอ งูมีพิษ และถูกมันกัดด้วยล่ะก็…อันตรายแน่นอน!
สัญญาณอันตรายเมื่อถูกงูพิษกัด และวิธีปฐมพยาบาล
งูพิษจะเข้าจู่โจมอย่างไม่ทันตั้งตัว ถ้าหากคุณไม่แน่ใจว่าโดนสัตว์อะไรกัดเข้า แต่มีอาการต่อไปนี้ สันนิษฐานได้เลยว่าโดนงูพิษเล่นงานซะแล้ว!
- พบรอยเขี้ยวเป็นรู 2 จุด (บางครั้งอาจจะเห็นเพียงรอยเดียว)
- บวมแดงรอบ ๆ บริเวณที่ถูกกัด
- ปวดอย่างรุนแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หายใจติดขัด
- ตาเริ่มมัว
- มีน้ำลายมากผิดปกติ
- หน้าชาไม่รู้สึกหรือชาตามแขนขา
พิษงูจะเข้าไปทำลาย เนื้อเยื่อ เลือด เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ วิธีปฐมพยาบาลคือ บีบเลือดออกมาเท่าที่จะทำได้ ห้ามกรีดหรือดูด บริเวณแผล ล้างน้ำสะอาด ฟอกสบู่ หรือน้ำด่างทับทิม ใช้ผ้าสะอาดซับแผลให้แห้งแล้วไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด พยายามให้อวัยวะที่ถูกกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด อาจดามให้อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ เพื่อชะลอการซึมของพิษงู (ไม่ควรชันชะเนาะ หากไม่รู้จักการขันชะเนาะที่ถูกวิธี) และถ้าผู้ถูกกัดหยุดหายใจ ให้ปั๊มหัวใจ CPR เพื่อช่วยชีวิต
7 สายพันธุ์งูพิษ ที่อาจพบในบ้าน
1. งูเห่า (Siamese)
งูเห่ามักอาศัยอยู่ตามจอมปลวก ตามทุ่งนา หรือสวนที่มีความชื้น ลักษณะเฉพาะเลยคือ คอขยายออกแผ่แม่เบี้ยได้ โดยจะตั้งส่วนหัวและคอแล้วแผ่แม่เบี้ย มีลายรูปวงแหวนสีขาวดำอยู่ด้านหลัง ลำตัวยาวไม่เกิน 1.8 เมตร
แหล่งที่พบงูเห่ามาก : แขวงหนองงูเห่า เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ อยุธยา อ่างทอง ลพบุรี เพชรบูรณ์
2. งูจงอาง (King Cobra)
งูจงอางมักหลบอยู่ตามป่าทึบและมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ ๆ ความยาวเฉลี่ย 4 เมตร สีสันและลวดลายแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ งูจงอางภาคใต้มักมีสีน้ำตาลหรือเทาอมเขียว งูจงอางของภาคเหนือสีเข้มเกือบดำ งูจงอางภาคกลางและอีสานมีลายขวางเป็นบั้ง หากถูกรบกวนจะแผ่แม่เบี้ยแต่แม่เบื้ยจะแคบกว่าแม่เบี้ยของงูเห่า จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ เกล็ดท้ายทอยขนาดใหญ่ 1 คู่บนศีรษะ
แหล่งที่พบงูจงอางมาก : ป่าแถบภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช ตราด พัทลุง / ภาคกลางที่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ลพบุรี นครราชสีมา / ภาคตะวันออกที่ ระยอง
3. งูสามเหลี่ยม (Banded Krait)
งูสามเหลี่ยมชอบอาศัยบริเวณที่ลุ่ม ทุ่งนา และป่าชายเลน ยาวประมาณ 1 – 1.8 เมตร ลำตัวมีสีดำสลับเหลืองเป็นปล้อง ๆ ขนาดใกล้เคียงกันตลอดตัวทั้งส่วนบนและส่วนท้อง ปลายหางมน ลักษณะเด่นคือ แนวกระดูกสันหลังที่ยกตัวสูงนูน เห็นเป็นลักษณะสามเหลี่ยม ปลายหางทู่มน พบได้ทุกภาคของประเทศไทย
4. งูทับสมิงคลา (Malayan Krait)
งูทับสมิงคลาเป็นงูที่ว่องไวปราดเปรียวและมีพิษรุนแรงกว่างูสามเหลี่ยม มันชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และที่ที่มีความชื้นสูง ความยาวประมาณ 1 – 1.5 เมตร ลำตัวค่อนข้างกลม สีขาวสลับดำเป็นปล้อง ๆ ท้องสีขาว หัวสีดำปนเทา หางเรียวยาวเล็กแหลม พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
5. งูแมวเซา (Russeell’s Viper)
งูแมวเซาชอบแอบอยู่ตามโพรงดิน ซอกหิน พงหญ้า ทุ่งนา และที่แห้ง ถ้ามันถูกรบกวนจะขดตัวแล้วขู่จากนั้นจะจู่โจมกลับด้วยความว่องไว ลำตัวของมันยาวประมาณ 0.9 – 1.5 เมตร เกล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลายกลมสีน้ำตาลเข้ม เป็นดวงกลมๆ รี 3 แถว เรียงจากหัวลงไป ขอบสีดำขลิบขาวทั่วลำตัว หัวมีลายคล้ายลูกศร
แหล่งที่พบงูแมวเซามาก : อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สระบุรี นครสวรรค์ นนทบุรี นครปฐม
6. งูกะปะ (Malayan pit viper)
งูกะปะชอบขดตัวอยู่นิ่ง ๆ ตามซอกหิน ใต้กองใบไม้ ในสวนยางพารา และพื้นที่ลุ่มในป่าชื้น ยาว 50-80 เซนติเมตร สีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลเทา มีลายสามเหลี่ยมสีน้ำตาลเข้มขอบขาวเรียงเป็นแถวอยู่สองฝั่งลำตัว ปลายแหลมของสามเหลี่ยมจะชนกันอยู่ที่เส้นสีน้ำตาลตามแนวกระดูกสันหลัง หัวสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นพาดผ่านปลายจมูก ขอบตาบน ไปจนถึงขากรรไกรบน ปากแหลม ปลายจมูกงอนขึ้นเล็กน้อย
7. งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง (White-lipped Pitviper)
งูเขียวหางไหม้มักอาศัยอยู่ตามต้นไม้หรือในที่ใกล้แหล่งน้ำ ใกล้บ้านคน ความยาวเฉลี่ย 70 – 90 เซนติเมตร หัวเป็นรูปสามเหลี่ยมหลิม เกล็ดสีเขียวเล็ก ผิวเรียบ ช่วงลำตัวจะใหญ่กว่าคอ ริมฝีปากและคางสีเหลือง ขาว หรือสีเขียวอ่อนกว่าสีของลำตัวเล็กน้อย ปลายหางสีน้ำตาลแดง พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
งูเข้าบ้าน แจ้งจับได้ที่ไหน
หากพบเจองูมีพิษ ให้โทร. ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการจับงู ได้แก่
- 199 แจ้งอัคคีภัยและสัตว์เข้าบ้าน
- 1677 รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน
- 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สำหรับกรณีโดนงูกัด
ปกติแล้วงูมีพิษส่วนมากจะไม่สู้คน มันจะพยายามหนีก่อนเสมอ มันจะกัดก็ต่อเมื่อถูกทำให้ตกใจหรือโกรธ และจะดุร้ายมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือออกไข่ งูพิษแต่ละชนิดที่กล่าวมานี้ ส่วนมากจะออกมาหากินตอนกลางคืน ส่วนตอนกลางวันตามันจะมัวค่ะ แต่เพื่อความปลอดภัย ควรติดดวงไฟส่องสว่างไว้รอบบ้าน บริเวณสวน เพื่อจะได้มองเห็นสิ่งผิดปกติได้ง่ายในตอนกลางคืน และอย่าลืม จัดสวนป้องกันงู กันไว้ด้วยนะคะ
ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และรูปภาพนำไปเผยแพร่ต่อ ไม่ว่าวิธีใดๆ ถ้าฝ่าฝืนทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เจองูในชักโครก ทำยังไงดี ? วิธีรับมือกับ อสรพิษเฝ้าคอห่าน และป้องกันงูฉกก้น
วิธี สร้างสระน้ำเอง ทำบ่อออนเซ็น ที่บ้านได้ง่ายๆ ใช้พื้นที่ไม่เยอะ ประหยัดงบ
9 เศษขยะที่พบในท่อระบายน้ำ สาเหตุท่อตัน ท่อรั่ว กดชักโครกไม่ลง